จังหวัดอุบลราชธานีขึ้นชื่อในเรื่องหัตถกรรม ซึ่งได้แก่ ผ้าทอเมืองอุบล ผ้าฝ้ายทอมือ หมอนขิด ผ้าขาวม้า ผ้าไหม เครื่องทองเหลือง เครื่องจักสานจำพวกกระด้ง กระติ๊บข้าว ข้องใส่ปลา ตะกร้า
นอกจากนี้จังหวัดอุบลราชธานียังขึ้นชื่อในเรื่องของอาหารการกิน ได้แก่ หมูยอ กุนเชียง ไส้กรอกอีสาน และ เค็มบักนัด (เค็มสับปะรด) ซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อของจังหวัดอุบลราชธานี ทำด้วยเนื้อปลาสวายหรือปลาเทโพ หั่นเป็นชิ้นยาวๆ ดองในน้ำเกลือและเนื้อสับปะรดที่ซอยเป็นชิ้นเล็กๆ บรรจุในขวดแก้ว สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลายอย่าง เช่น อาหารประเภทหลน มีจำหน่ายทั่วไปในตัวเมือง
ผลิตภัณฑ์ทองเหลืองชุมชนบ้านปะอาว บ้านปะอาวเป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่มากแห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นหมู่บ้านที่มีอาชีพที่เป็นสัญลักษณ์ประจำหมู่บ้าน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ คือ การทำเครื่องทองเหลือง กรรมวิธีการผลิตยังเป็นแบบดั้งเดิม นอกจากนี้แล้ว ในหมู่บ้านยังมีศูนย์สาธิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทองเหลือง และทอผ้าไหมที่สวยงาม เปิดทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ

ผ้ากาบบัวอุบลราชธานี[แก้]

จังหวัดอุบลราชธานีมีชื่อเสียงในด้านการทอผ้ามาเป็นเวลา เห้นได้จากวรรณกรรมโบราณอีสานและประวัติศาสตร์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดอุบลราชธานีได้ปรากฏให้เห็นถึงความประณีตสวยงาม แสดงถึงภูมิปัญญาของผู้ทอผ้าที่ได้สร้างสรรค์บรรจงด้วยจิตวิญญาณ ออกมาเป็นลวดลายวิจิตรจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบัน “ผ้ากาบบัว” ได้รับการสืบสานเป็นผ้าเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นที่นิยมในวงการแฟชั่นไทย มีการสวมใส่ตั้งแต่ระดับชั้นของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปจนถึงระดับวัยรุ่นด้วยรูปแบบที่หลากหลาย
ผ้ากาบบัวในหน้าประวัติศาสตร์
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงสำเร็จราชการมณฑลลาวกาวและมณฑลอีสานได้นำผ้าทอเมืองอุบลราชธานี ทูลเกล้าถวายซึ่งปรากฏในหน้าพระราชหัตถเลขา ตอบเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 114 ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ความว่า “ถึงสรรพสิทธิ์ ด้วยได้รับหนังสือลงวันที่ 13 มกราคม ส่งผ้าเยียรบับลาวมาให้นั้นได้รับแล้ว ผ้าทอดีมากจากเชียงใหม่ยังสู้ไม่ได้เลย ถ้าจะยุให้ทำมาขายคงจะมีผู้ซื้อ ฉันจะรับเป็นนายหน้า ส่วนที่ส่งมาจะให้ตัดเสื้อ ถ้ามีเวลาจะถ่ายรูปให้ดู แต่อย่าตั้งใจคอยเพราะจะถ่ายเมื่อใดบอกไม่ได้ จุฬาลงกรณ์ ปร.”
จากการค้นคว้าถึงตำนานผ้าเยียรบับนี้พบว่า เป็นผ้าลายกาบบัวคำ ทอด้วยเทคนิคขิดหรือยกด้วยไหมคำ (ดิ้นทอง) แทรกด้วยไหมมัดหมี่ ใช้เทคนิคด้วยการจกหรือเกาะด้วยไหมสีต่างๆลงบนผ้า ในเวลาอีก 55 ปีถัดจากนั้น เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493 ชาวอุบลราชธานีได้ร่วมใจกันทอ “ผ้าซื่นไหมเงิน ยกดอกลายพิกุล” ทูลเกล้าถวายเนื่องในพิธีพระราชบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ในรัชกาลปัจจุบันและถัดจากนั้นอีก 5 ปีถัดมาในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินมายังเมืองอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2498 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าซิ่นไหมเงิน ที่ชาวอุบลราชธานีทูลเกล้า ฯถวาย และมีเสด็จรับสั่งกับพสกนิกรที่หน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ว่า “ชาวอุบลฯเขาให้ผ้าซื่นเป็นของขวัญวันอภิเษกสมรส เมื่อมาเยี่ยมอุบลฯ จึงนำมานุ่งให้คนอุบลฯเขาดู” ยังความปีติปลาบปลื้มเป็นล้นพ้นของชาวอุบลราชธานีเป็นอย่างมาก[7]